เมื่อสองเดือนก่อนฉันมีโอกาสพาที่บ้านไปเสียมราฐ เพื่อไปดูมรดกโลกในภูมิภาคนี้อีกแห่งหนึ่งนั่นก็คือ นครวัด-นครธม และเนื่องจากทริปนี้มีผู้ใหญ่ไปด้วยเราก็เลยเลือกเดินทางโดยเครื่องบิน ภาพด้านบนและด้านล่างเป็นสนามบินเสียมราฐที่ออกแบบได้เก๋ๆ ให้อารมณ์คล้ายสนามบินสมุย
เมืองเสียมราฐนี้ดูจากโบราณสถาน นครวัด-นครธม จะพบว่าเป็นเมืองที่เคยเจริญมากๆ ในอดีต (ประมาณแปดร้อยปีที่แล้ว) แต่ในปัจจุบันกลายเป็นเมืองที่คล้ายๆ อยุธยาบ้านเราคืออนุรักษ์ไว้ให้เป็นเมืองท่องเที่ยว ข้อดีคือผู้คนอัธยาศัยดีกับนักท่องเที่ยวมาก แทบไม่มีปัญหาอาชญากรรมอะไร
ภาพด้านบนทั้งสองภาพเป็นภาพ Night Market กลางเมืองของที่นี่ บรรยากาศคล้ายสวนจตุจักร รับเงินไทย แต่ถ้าใช้จ่ายด้วยเงินดอลล่าห์จะได้ราคาดีกว่า (ป.ล.ทริปนี้ไม่ได้แลกเงินท้องถิ่นเลยเพราะเมืองนี้เป็นอินเตอร์ รับเงินแทบทุกสกุล ประชากรเค้าแทบทุกคนคิดอัตราแลกเปลี่ยนเก่งมาก)
เขมรเป็นประเทศที่น่าสงสารเพราะผ่านสงครามหนักๆ มาหลายยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่ฝรั่งเศสเข้ามาล่าอาณานิคม จนกระทั่งถึงยุคเขมรแดงที่เอาคนไปฆ่ากันเป็นท้องทุ่ง (ไปดูทุ่งสังหารมาด้วย แต่ขอไม่เอาภาพมาลงเพราะเป็นฉากน่าเศร้าเกินไป) จากเดิมเคยเป็นอาณาจักรใหญ่ก็เลยตกต่ำลงไปมาก
ภาพด้านบนที่มีต้นไม้ใหญ่ๆ ขึ้นบนปราสาทคือปราสาทตาพรม ที่หนังฮอลิวู้ดชอบมาฉายหนัง (อยู่ด้านนอกนครวัด-นครธม) กำลังถูกบูรณะขนาดใหญ่และมีช่างศิลป์มาวาดรูปขายนักท่องเที่ยว สมัยก่อนช่างฝีมือจะสลักภาพลงบนหินทำให้ยังสวยงามและทนทานผ่านอายุมาได้หลายร้อยปี
ภาพด้านบนเป็นภาพหน้ายิ้ม ซึ่งมีหลายๆ หน้าที่ปราสาทบายน หนึ่งในปราสาทหลักๆ ในนครธม (นครธมเป็นเหมือนเมืองๆ นึงขนาดใหญ่มากๆ และสร้างไว้เป็นศาสนสถาน) ภาพด้านล่างเป็นภาพนางอัปสราที่มีแกะสลักอยู่รอบๆ ปราสาทนครวัด (ภาพนครวัดเต็มๆ คือภาพด้านบนสุดของ blog นี้) ส่วนภาพล่างสุดของ blog นี้คือภาพบาราย อ่างเก็บน้ำจืดขนาดใหญ่มากๆ ที่สร้างด้วยฝีมือมนุษย์ ใหญ่ขนาดมีเกาะตรงกลางให้พายเรือเข้าไปและในเกาะมีวัดตั้งอยู่ (หลายตารางกิโลเมตร)
ด้านบนเป็นไหมของกัมพูชา กรรมวิธีการผลิดและการทอเหมือนการทำในประเทศไทย และประเทศลาวที่เคยไปดู บางทีก็สะท้อนใจว่าประเทศแถบเรามีศิลปะวัฒนธรรมรวม หลายๆ อย่างคล้ายกันมาก ถ้าเป็นเพื่อนบ้านสามัคคีกันดีก็จะเข้มแข็งเลยทีเดียว ในภาพบนกำแพงนครวัดมีภาพจารึกไว้ว่าสยามเราเองกับเขมรเมื่อแปดร้อยปีก่อนเคยรวมกองทัพร่วมมือกัน ช่วยกันไปรบกับชนชาติอื่นที่มารุกราน
Create Date : 11 กุมภาพันธ์ 2557 |
Comments